top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนDr.Virintr Mekpraditsin

ความรู้เกี่ยวกับ Network Monitoring

การทำ Network Monitoring ในโครงสร้างพื้นฐานของระบบเครือข่าย เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยให้เราสามารถดูแล รักษา การทำงานของระบบได้ตามปกติแล้ว ยังสามารถพยากรณ์แนวโน้มของการเกิดปัญหาต่างๆ ได้อีกด้วย


ปัจจุบัน ในโลกที่เครือข่าย เต็มไปด้วยความซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่เราจะสามารถควบคุมดูแลระบบเครือข่าย ให้ทำงานได้ดังใจหวัง ระบบเครือข่าย เป็นระบบการสื่อสารที่มีกระแสจราจร ที่มิอาจทำนาย หรือหยั่งรู้ได้ เหมือนใจคน ที่ยากจะทำนาย (เว้นเสียแต่ว่าเราสามารถควบคุมเขาได้) เช่นเดียวกับระบบเครือข่าย เรามิอาจควบคุมได้ไปเสียทั้งหมด เนื่องจากอุปกรณ์เครือข่าย ทำงานภายใต้กฏเกณฑ์มาตรฐานภายในอยู่ 2 อย่าง คือ การทำงานภายใต้ Control Plane ซึ่งเป็นการทำงานที่ปฎิบัติตามระบบปฎิบัติการ ที่มากับอุปกรณ์เครือข่าย มีทั้งแบบที่เป็นมาตรฐานเฉพาะค่ายผู้ผลิต (เช่น Cisco, Juniper) เป็นต้น หมายความว่า การส่งผ่านของข้อมูลข่าวสารเป็นไปตามเส้นทางต่างๆ เป็นเรื่องของการควบคุมโดยอัลกอริธึมของระบบปฎิบัติการที่มากับอุปกรณ์จากค่ายของผู้ผลิต นอกจากนี้ ยังมีแบบที่ทำงานตามมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับสากล ที่อุปกรณ์ไม่ว่าจะมาจากค่ายใด ต้องดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าว เช่น OSPF ซึ่งไม่สังกัดค่ายผู้ผลิตรายใด การทำงานของ Control Plane คือการควบคุม การจัดส่งข้อมูลข่าวสารไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ภายใต้ อัลกอริธึม ที่ผ่านการคำนวณ และตัดสินมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อีกอย่างหนึ่งคือการทำงานของ User Plane ซึ่งเป็นหน่วยการทำงานภายในอุปกรณ์เครือข่าย หน้าที่หลักของ User Plane คือทำการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารในรูปของ IP Packet ไปยัง interface และเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง โดย User plane จะดำเนินการตามที่ Control plane กำหนดไว้ อย่างเด็ก ว่าง่าย สอนง่าย ซึ่งว่าไปแล้ว Control Plane เปรียบเสมือนมันสมอง และจิตวิญญาณ ส่วน User Plane เปรียบได้กับ แขนขา หรืออวัยวะที่ใช้หยิบยื่น หรือรับเอาสรรพสิ่งจากโลกภายนอกเข้ามายังร่างกาย


เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเห็นว่า เราคงทำอะไรไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่า ระบบการทำงานแบบใหม่ คือการแยก Control Plane กับ User Plane ออกจากกัน โดยอุปกรณ์เครือข่ายจะไม่มี Control Plane อีกต่อไป จะเหลือแต่ User Plane เท่านั้น ส่วน Control Plane จะไปอยู่ในรูปแบบของ Software ที่ติดตั้งบน Server ที่ใช้ควบคุมระบบเครือข่าย ในลักษณะรวมศูนย์ โดยเทคโนโลยีแบบนี้ เรียกว่า Software Defined Network (SDN) แต่สำหรับเครือข่ายในปัจจุบัน ที่ไม่ได้ใช้ระบบ SDN ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของกระแสจราจร ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการ เฝ้าดูการทำงานของระบบเครือข่าย ผ่านการใช้เครื่องมือ ประเภท Network Monitoring และ Management



ประโยชน์ของ Network Monitoring คืออะไร?


การดูแลระบบ IT รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบเครือข่าย เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะช่วยให้เราสามารถดูแล รักษา การทำงานของระบบได้ตามปกติแล้ว ยังสามารถพยากรณ์แนวโน้มของการเกิดปัญหาต่างๆ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ เราสามารถวางแผนเกี่ยวกับการ Upgrade เกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบ ตรวจพบ การทำงานที่ผิดปกติของอุปกรณ์ในระบบ รวมทั้งการละเมิดความปลอดภัย ที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ เรายังใช้ระบบ Monitoring เพื่อการ Troubleshooting ปัญหาต่างๆได้ เป็นอย่างดี


ปัจจุบันมีเครื่องมือทาง Software มากมายที่ช่วยในการ Monitoring ระบบ มีทั้งแบบ Freeware และแบบ Shareware ทั้งแบบราคาถูกและราคาแพง ประเด็นสำคัญ มิใช่อยู่ที่ ราคา แต่อยู่ที่ ความเหมาะสมในการนำมาใช้งาน รวมทั้ง เครื่องมือสามารถตอบโจทย์ หรือเหมาะกับระบบของเราหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น เราจะต้องรู้ว่า เราจะใช้เครื่องมือมา Monitor ดูอะไรบ้าง ตัวเลขที่แสดงออกมานั้น บ่งบอกว่า เกิดอะไรขึ้น มีความเหมาะสมหรือไม่ เป็นสัญญาณเตือนอะไรหรือปล่าว นั่นคือ Body of Knowledge อย่างแท้จริง ก่อนอื่นเรามาดูประเด็นแรกกันก่อน


จุดประสงค์การ Monitor


1. Availability

ความต่อเนื่องของการให้บริการ เช่น การ Monitor ดู Node หรืออุปกรณ์ รวมทั้ง Interface ต่างๆ ว่าสถานะเป็นอย่างไร (Up หรือ Down) การ Monitor จะต้องครอบคลุมไปถึง Node หรือ interface เกิดการ Restart หรือ Reset อีกด้วย เนื่องจากการเกิด Restart หรือ Reset บ่อยๆ เป็นสัญญาณเตือนว่า จะขออำลาโลกในอีกไม่นาน ดังนั้น ให้เตรียมหาตัวแทนได้แล้ว


2. แจ้งเตือนในกรณีที่เกิดความผิดพลาด : เครือข่ายที่มีปัญหาผิดพลาดบ่อยๆ หรือเกิดขึ้นเยอะมาก หรือจำนวนการเกิด CRC Error เกิน 1% ขึ้นไป (เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณ Traffic ทั้งหมด) ถือว่า เป็นเครือข่ายที่เต็มไปด้วยขยะ ปัญหาเครือข่ายช้า เป็นพักๆ การส่งถ่ายแฟ้มข้อมูลเกิดความผิดพลาดเป็นระยะๆ หรือการเชื่อมต่อ หลุดบ่อย ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว การ Monitoring จะช่วยให้เห็นปัญหานี้ได้


3. ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบเครือข่ายและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง : การเข้าถึงและตระหนักในประสิทธิภาพของเครือข่าย จะช่วยให้ผู้บริหารจัดการเครือข่าย หรือผู้ให้บริการระบบเครือข่าย ตระหนักถึงขีดความสามารถของระบบว่า ได้เป็นไปตามข้อตกลง SLA หรือตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับผู้ใช้บริการ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถวางแผนเกี่ยวกับการปรับปรุงขีดความสามารถของระบบ (Capacity Planning) ได้อีกด้วย


4. การตรวจสอบปริมาณการใช้งานทรัพยากรของเครือข่าย : ทรัพยากรในที่นี้หมายถึง องค์ประกอบภายในของอุปกรณ์เครือข่าย รวมทั้ง bandwidth ของเครือข่ายในปัจจุบัน ได้ใช้ไปมากน้อยเพียงใด อีกทั้งยังต้องตั้งค่าในกรณีที่ปริมาณการใช้งาน เกินค่ากำหนด ซึ่งอาจนำไปสู่การทำงานที่ผิดพลาดของระบบเครือข่าย หรือประสิทธิภาพลดลงได้


5. การเฝ้าตรวจสอบแนวโน้มที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อระบบเครือข่าย : ระบบ Monitoring จะช่วยให้สามารถตรวจพบ กระแสจราจรที่ชวนให้สงสัยว่า อาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคง ของระบบเครือข่ายและองค์กร ด้วยการแสดงให้เห็นถึงกระแสการจราจรที่ผิดปกติ และสามารถเตรียมการรับมือได้แต่เนิ่นๆ

ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ เป็นประเด็นที่สำคัญในการดูแลระบบเครือข่ายที่เน้นคุณภาพ ความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ การใช้ Network Monitoring Tool จะช่วยให้องค์กรสามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสีย อันเนื่องจากการหยุดชะงัก ด้วยภัยคุกคามหรือ ปัญหาเกี่ยวกับระบบเครือข่ายลงได้ และยังช่วยให้สามารถวางแผน ดูแล และรับมือกับปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ดร.วิรินทร์ เมฆประดิษฐสิน


For English version, please click here


ดู 1,890 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page